รู้จัก 3 สาเหตุหลักของอาการ “ปวดเข่า” แม้ไม่ใช่ผู้สูงวัยก็มีอาการได้ |
|
อ้างอิง
อ่าน 280 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
|
หากพูดถึงอาการปวดเข่า หลายๆ คนอาจจะคิดว่าคงเป็นเรื่องไกลตัวและเกิดแค่ในหมู่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมหรือเป็นโรคเกาต์ แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปวดเข่านั้นมีหลายสาเหตุมากกว่าที่คิด แต่ละสาเหตุก็มีความรุนแรงและวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกันไป จึงควรทำความเข้าใจอาการนี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์เวลาไปพบแพทย์

อาการปวดเข่าที่เกิดจากการบาดเจ็บ
การบาดเจ็บที่เข่าหรือบริเวณใกล้เคียงจากการเล่นกีฬาหรือการเคลื่อนไหวผิดปกติอาจทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้ เช่น
- ข้อเคล็ด
- กล้ามเนื้อฉีกขาดจากการยืดหรือหดกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วเกินไป
- หมอนรองกระดูกฉีกขาด
- เอ็นหรือสะบ้าอักเสบ
- เส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าจากการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
อาการปวดเข่าจากกลไกบางอย่างในร่างกายทำงานผิดปกติ
บางครั้ง อาการปวดอาจไม่ได้มีสาเหตุจากเข่าโดยตรง แต่เป็นผลมาจากอาการบาดเจ็บบริเวณอื่นที่ส่งผลมาถึงหัวเข่า เช่น บาดเจ็บที่เท้า ขา หรือเอวจนต้องเปลี่ยนท่าเดินเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะเคลื่อนไหว ลักษณะท่าทางการเดินที่เปลี่ยนไปนั้นอาจทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเกิดอาการปวดขึ้น
อาการปวดเข่าที่เกิดจากโรคไขข้ออักเสบ
กลุ่มโรคไขข้ออักเสบที่พบโดยทั่วไป ได้แก่
1) โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากส่วนปลายข้อต่อของกระดูกสึกกร่อน อาจมีสาเหตุจากน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวหรือเมื่อข้อเข่าต้องเสียดสีกัน เช่น ขณะเดินมากๆ หรือขึ้น-ลงบันได
2) โรคเกาต์ เกิดจากการที่มีกรดยูริคในร่างกายมากเกินไปจนไม่สามารถกำจัดได้อย่างปกติ มักพบผลึกกรดยูริคสะสมบริเวณข้อต่อหลายจุดในร่างกายพร้อมๆ กัน ทำให้มีอาการเจ็บปวดและบวมแดง
3) รูมาตอยด์ โรคข้อรูมาตอยด์เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติจนเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคนั้น หันไปทำลายเยื่อบุผิวข้อต่อแทน สามารถเกิดได้ที่ข้อต่อทุกส่วน รวมถึงหัวเข่า โรคข้อรูมาตอยด์นี้ เมื่อเป็นแล้วจะทำให้รู้สึกเจ็บและร้อนบริเวณนั้นและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลดลง เป็นไข้ หรือส่งผลไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจ
อาการปวดเข่านั้นทำให้รู้สึกทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย วิธีการรักษามีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง โดยในรายที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ทายาหรือรับประทานยาบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ แต่หากปวดรุนแรงมาก อาจต้องฉีดยาหรือผ่าตัด ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการปวดบริเวณข้อเข่า ควรรีบรับการรักษาอย่างถูกวิธี ก่อนที่จะกลายเป็นอาการเจ็บปวดเรื้อรัง
|
|
|